ความเป็นมา  เป็นอยู่  และเป็นไป

ของ  การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯ

—————————————————–

                    ในช่วงที่ ดร.พิจิตต  รัตตกุล เป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ นั้น อยู่ในโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองพระบรมราชวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ ๖ รอบ  พ.ศ.๒๕๔๒ คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้มีมติเห็นชอบให้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในราชวโรกาสนั้นด้วย  และน่าจะเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องยั่งยืน รณรงค์ให้สังคมไทยสามารถเรียนรู้และน้อมนำแนวพระราชประณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาประเทศได้อย่างจริงจังและกว้างขวางขึ้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้ คุณพอใจ  ชัยะเวฬุ อุปนายกสมาคมฯ ในขณะนั้นไปจัดทำโครงการพิเศษขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

เมื่อได้รับมอบหมาย คุณพอใจ  ก็ปรึกษาหารือกับพรรคพวกเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องลงความเห็นกันว่า  กิจกรรมของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ตั้งแต่ก่อตั้งมา (พ.ศ.๒๔๘๙) ล้วนเป็นกิจกรรมกีฬาและบันเทิง เพื่อความสนุกสนานเป็นแรงใจให้  บรรดานิสิตเก่ากลับมาพบปะรวมตัวกันอีก ภายหลังจากจบออกไปรับใช้ชาติบ้านเมืองตามวิถีทางของตน กิจกรรมเหล่านี้คงไม่สามารถเป็นสื่อในการรณรงค์ให้สังคมได้เข้าใจและปฏิบัติตามแนว พระราชประณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้  จึงเห็นว่าน่าจะเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่ไม่เคร่งเครียดนัก ประกอบกับเวลานั้นรัฐบาลได้มีมติประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามเหตุผลและข้อเสนอของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย ควรจะใช้เรื่องภาษาไทยเป็นหลักในการจุดประกายการรณรงค์ดังกล่าว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเวลานั้นกว่า ๖๐ แห่งทั่วประเทศ

กิจกรรมด้านภาษาไทย ที่จะให้คนส่วนมากมีส่วนร่วมได้ ก็คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีการส่งเสริมกันอย่างแพร่หลายในระดับโรงเรียน ส่วนนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เขามักจะจัดรวมไว้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป  โอกาสที่นิสิตนักศึกษาในสถาบันจะเกิดขึ้นในวงการโดยแทรกผ่านประชาชนทั่วไปได้ยากมาก จึงตกลงกันใช้การประกวดสุนทรพจน์ในระดับอุดมศึกษา ภายใต้หลักการว่า ต้องตามรอยพระยุคลบาท เพื่อช่วยชาติต่อไป ทั้งจะเป็นการเสริมสร้างค่านิยมในการแสดงออกและการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องในหมู่เยาวชนไทย โดยเฉพาะเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษา

เมื่อโครงการได้รับอนุมัติจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แล้ว นายกสมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติขึ้น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๒ มีคุณหญิงลักขณา  แสงสนิท นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ๒๔๙๙  เป็นประธานคณะกรรมการ คุณพอใจ  ชัยะเวฬุ นิสิตเก่าเตรียมแพทย์ ปี ๒๔๙๕ นิเทศศาสตร์รุ่นแรกผู้ดำเนินการแต่แรกเริ่ม เป็นรองประธานกรรมการ ร่วมกับคนอื่นๆ อีก ๗ คน  มีกรรมการฝ่ายต่างๆ ๑๖ คน และกรรมการที่ปรึกษาอีก ๑๙ คน รวมทั้งสิ้น ๔๔ คน มีคุณอภัยชนม์  วัชรสินธุ์ เป็นเลขานุการ และคุณสนิท อุยตระกูล เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

คณะกรรมการดำเนินงานชุดนี้ ได้เริ่มตั้งแต่ขอพระราชทานถ้วยรางวัล จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกแบบถ้วยพระราชทานเพื่อขอพระบรมราชานุญาต เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว จึงเริ่มประชาสัมพันธ์และหาทุนเพื่อเป็นรางวัลผู้เข้าประกวดและงบดำเนินการ โดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ค้ำประกันว่า หากขาดเหลืออย่างไรใช้งบกลางของสมาคมฯ มาสมทบได้ ซึ่งในปีแรกนั้น คุณดาราณีย์  ตันชัยสวัสดิ์ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ที่ทำงานอยู่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยประสานงานขอทุนมาได้ในวงเงิน ๑ ล้านบาท มีเงื่อนไขเบิกจ่ายได้ตามที่เป็นจริง ตามโครงการแรกเริ่ม คุณพอใจ  ตั้งรางวัลไว้เลิศหรูมากเพื่อหวังจูงใจให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมประกวด แต่เมื่อมาสู่คณะกรรมการดำเนินงานเห็นว่าจะเป็นภาระหนักในการหาผู้สนับสนุน ถ้าจะขอจากสมาคมฯ ทุกปีอาจทำให้กิจกรรมนี้ต้องสะดุดขาดความต่อเนื่อง และไม่ยั่งยืน  จึงลดเงินรางวัลผู้ชนะเลิศลงครึ่งหนึ่งและลดรางวัลอื่นๆ ตามสมควร ดังที่ประกาศประกวดไปนั้น ทั้งนี้จำนวนรางวัลไม่ได้ถือกันอย่างเคร่งครัด นอกจากรางวัลชนะเลิศ สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย อาจเพิ่มหรือลดได้ตามความเห็นของกรรมการตัดสิน โดยดูที่มาตรฐานในการแสดงออกของผู้เข้าประกวด

ปี  ๒๕๔๒ ซึ่งเริ่มโครงการนี้  มีกระบวนการเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นมากมาย นับตั้งแต่การขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  การรอรับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบถ้วยรางวัล การจัดทำถ้วยรางวัลพระราชทาน รวมทั้งการหาทุน กว่าจะประกาศเชิญชวนเข้าประกวดได้ก็ต้นปี ๒๕๔๓ และเร่งจัดดำเนินการให้ทันการเข้าร่วมงานภาษาไทยแห่งชาติในปีนั้นด้วย จึงมีสถาบันที่พร้อมและส่งตัวแทนเข้าประกวดเพียง ๑๖ สถาบัน ๑๖ คน แม้จะมีการแถลงข่าวใหญ่โต ก็ไม่ได้รับการสนองตอบอย่างกว้างขวางนัก  ผู้ร่วมแถลงข่าวครั้งแรกได้แก่ ดร.เกษม  ใจหงษ์ อุปนายก สนจ.  ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานกรรมการตัดสิน คุณหญิงลักขณา  แสงสนิท ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน และคุณปราโมช  รัฐวินิจ ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์

การประกวดจัดเป็น ๒ รอบ รอบคัดเลือก ประกวดก่อนวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒ สัปดาห์ และรอบชิงชนะเลิศในอีกสัปดาห์ต่อมา ในครั้งแรกนี้รอบคัดเลือกไม่มีการพูดแบบกะทันหัน และในรอบชิงชนะเลิศนั้นให้จับฉลากหัวข้อ เพื่อการพูดกะทันหันคนละหัวข้อจากที่จัดไว้หลากหลาย คณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่รับเชิญมาถึง ๒ วัน ๒ ครั้ง  ได้มีมติให้นายหนึ่ง คงกระพัน  จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ชนะเลิศรับถ้วยรางวัลพระราชทาน พร้อมทุนการศึกษา ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นคนแรกและเข้ารับถ้วยรางวัลในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสดงสุนทรพจน์ที่ชนะเลิศต่อที่ประชุม นับว่าการเริ่มกิจกรรมประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ ๑ ผ่านไปด้วยดี

เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานได้มาประชุมหารือ ถึงข้อดีข้อเสียของการประกวดครั้งที่ ๑ แล้ว เห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการจัดการให้ดีขึ้น เช่น เวลาในการจัดประกวด การจัดการประชาสัมพันธ์ ผู้มีสิทธิประกวด หัวข้อการประกวด สถานที่ในการประกวด เกณฑ์การตัดสิน คณะกรรมการตัดสินและการดำเนินงาน ประมวลความคิดเห็นได้ว่า ควรจัดการประชาสัมพันธ์และดำเนินงานข้ามปีการศึกษา พอเปิดภาคใหม่ก็เริ่มงานได้เลย เพื่อให้ทันวันภาษาไทยแห่งชาติโดยไม่ฉุกละหุก ผู้มีสิทธิยังเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี  อายุไม่เกิน  ๓๐ ปี เพราะไม่ต้องการนักพูดอาชีพมาล่าเงินรางวัล หัวข้อประกวดยึดหัวข้อใหญ่  “ตามรอยพระยุคลบาท ช่วยชาติได้อย่างไร”  โดยขยายประเด็นไป เน้น  “หน้าที่ของคนไทย”  “การส่งเสริมคนดี”  และ “ตามรอยพระยุคลบาท” สถานที่ให้ใช้ห้อง ๑๐๕ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งไม่กว้างเกินไปจนทำให้คนฟังดูโหรงเหรง ลดอายุเฉลี่ยคณะกรรมการตัดสินลงมาเพื่อจะได้ไม่รบกวนผู้อาวุโสมากนัก ใช้เกณฑ์กว้างๆเน้นเนื้อหาสาระ ๔๐% การนำเสนอ ๓๐% และการใช้ภาษา  ๓๐%  หัวข้อสำหรับการพูดกะทันหัน ควรใช้หัวข้อเดียวกันเพราะมีการเก็บตัวผู้เข้าประกวดอยู่แล้ว บอกล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนพูด  ๓ นาที เพื่อจะได้ไม่เสียเปรียบเมื่อจับสลากโดนหัวข้อที่ไม่ถนัด และการประชุมหารือคราวนี้ถือเป็นหลักปฏิบัติในปีต่อๆ มา จะปรับเปลี่ยนรายละเอียดไปบ้างตามสถานการณ์

ในปีที่ ๒ ได้ปรับปรุงคณะกรรมการดำเนินงานใหม่ ประธานยังคงเป็นคุณหญิงลักขณา  แสงสนิท เชิญคุณดาราณีย์  ตันชัยสวัสดิ์ จากธนาคารกสิกรไทย มาเป็นรองประธานฯ เพื่อดูแลงบสนับสนุนตามเงื่อนไข ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข  เป็นประธานฝ่ายจัดการประกวด คุณวันเพ็ญ  เซ็นตระกูล นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ ปี ๒๕๐๑ จาก อสมท. มาเป็นประธานฝ่ายกรรมการตัดสิน คุณวิไล  สุรเชษฐ์ชัย  ซึ่งอยู่ประจำ สนจ.  มาเป็นเลขานุการเพื่อความคล่องตัวในการประสานงานมากขึ้น  เกิดอุปสรรคมากเมื่อ คุณหญิงลักขณา  แสงสนิท ประธานเกิดล้มป่วยระยะยาว คุณพอใจ ต้องดำเนินงานในฐานะรักษาการประธานฯ งบของธนาคารกสิกร ถูกตัดยอดลงให้เป็นงบใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง จำเป็นต้องหาทุนมาจุนเจือ อย่างไรก็ตาม สนจ.ก็พร้อมที่สนับสนุนอยู่แล้ว คุณรัชนี  พัฒนผลไพบูลย์  นิสิตเก่าวิทยาฯ  แห่งโรงแรมใบหยก ประธานฝ่ายการเงิน บอกไม่หนักใจนัก แล้วงานในปีที่ ๒ ก็ลุล่วงด้วยดี มีสถาบันส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นเป็น ๒๙ สถาบัน ๒๙ คน น.ส.พรศิรินทร์  สุดแสง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานและทุนการศึกษา ๕๐,๐๐๐ บาท คุณพอใจ  ชัยะเวฬุ  พยายามติงและเตือนคณะกรรมการตัดสินให้ทบทวนแล้วทบทวนอีก เพราะจุฬาฯ เป็นผู้จัด นิสิตจุฬาฯ ชนะเลิศอย่างนี้ต่อไปสถาบันไหนจะกล้าส่งเข้าร่วมประกวดด้วย แต่เมื่อกรรมการยืนยันในความยุติธรรมก็ต้องยอม และถือเป็นแนวปฏิบัติของกรรมการตัดสินต่อๆมาว่า ถ้าหากผู้เข้าประกวดของจุฬาฯ ไม่ชนะอย่างขาดลอยละก็  อย่าหวังว่าจะได้ถ้วยพระราชทาน อาจารย์รศนาภรณ์  วีรวรรณ  ซึ่งเป็นทั้งกรรมการดำเนินงาน และผู้คัดเลือกนิสิตจุฬาฯ เข้าประกวดทราบเรื่องนี้ดี ว่าผู้เข้าประกวดจากจุฬาฯ จะใช้เส้นกรรมการตัดสินไม่ได้เลย

ปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จาก  ดร.พิจิตต  รัตตกุล เป็น คุณวิบูลย์  คูหิรัญ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  นิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ นายก สนจ.คนใหม่ สนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่ อนุมัติให้จัดโครงการสุนทรพจน์สัญจรไปคัดเลือกผู้เข้าประกวดตามภูมิภาคต่างๆ  รศ.ดร.ประพิณ  มโนมัยวิบูลย์ ประธานดำเนินงานต่อจากคุณหญิงลักขณา  แสงสนิท ขอให้ กฟภ. เป็นเจ้าภาพร่วม โดยเป็นฝ่ายต้อนรับการสัญจรของคณะดำเนินงาน รวมทั้งขอคน กฟภ. มาช่วยงานด้วย ซึ่งเราได้กำลังหลักมาหลายคน คือ คุณสุกัญญา  ค้ำชู นิสิตเก่าบัญชี คุณวินิตา  ปาณิกบุตร นิสิตเก่านิเทศศาสตร์ และคุณสุปาณี  รัชไชยบุญ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จาก กฟภ. มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนนายก สนจ.ไปแล้ว เธอทั้ง ๓ ยังช่วยอยู่อย่างเหนียวแน่น เช่นเดียวกับรองประธานดำเนินงานแต่แรกเริ่ม เช่น คุณพันธ์เลิศ ใบหยก, คุณสวัสดิ์ โสภะ, คุณมาลีรัตน์  ปลื้มจิตรชม, คุณดาราณีย์  ตันชัยสวัสดิ์ ฯลฯ อีกทั้งได้คุณสุพงษ์  ลิ้มพานิช นิสิตเก่าบัญชี จาก ธ.ไทยพานิชย์  มาช่วยงาน คุณจักรภพ  เพ็ญแข นิสิตเก่ารัฐศาสตร์ พิธีกรชื่อดัง มาช่วยเป็นพิธีกรในรอบชิงชนะเลิศและเป็นต่อมาทุกปี นอกจากนี้เรายังได้ คุณสุริยะ  ประสาทบัณฑิตย์ สิงห์ดำผู้มีอนาคตมาร่วมดำเนินงานด้วย ตั้งแต่การประกวดฯครั้งที่ ๔ เป็นต้นมา และเพื่อความเหมาะสมแก่การดำเนินงาน  เราได้ปรับเวลาใหม่ โดยไม่อิงกับวันภาษาไทยแห่งชาติต่อไป แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมทางภาษาไทยก็ตาม

คณะกรรมการฯ ได้เชิญอธิการบดีหรือผู้แทนจากสถาบันต่างๆที่เคยส่งนิสิตนักศึกษาเข้าประกวดมาเสวนา เพื่อหาอาสาสมัครเป็นศูนย์ภูมิภาคในการสัญจรตามความพร้อมของบุคลากรและหน่วยงาน  ปีแรก กฟภ. เขต ๑  รับเป็นเจ้าภาพเขตภาคเหนือ  ม.ขอนแก่น เป็นศูนย์ภาคอีสาน  ม.บูรพา ศูนย์ภาคตะวันออก ม.สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เป็นเจ้าภาพภาคใต้  ส่วนภาคกลาง  กรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดที่  สนจ. ได้ผู้เข้าประกวด ๕๙ คน จาก ๓๕ สถาบัน ( เพิ่มสิทธิให้สถาบันละไม่เกิน  ๒  คน ) ปี ๒๕๔๖  เพิ่มศูนย์ประสานงานเป็นเหนือตอนบน เหนือตอนล่าง อีสานบน อีสานล่างขึ้นมา ภาคเหนือบนจัดที่ ม.แม่ฟ้าหลวง เหนือตอนล่างที่  ม.นเรศวร อีสานบนจัดที่ ม.ขอนแก่น และอีสานล่าง ที่  ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ตะวันออกจัดที่ ร.ร.นายร้อย จปร. นอกนั้นคงเดิม มีผู้เข้าประกวดถึง ๘๒ คน จาก ๕๓ สถาบัน โดยคณะกรรมการพิจารณาให้วิทยาเขตของแต่ละสถาบันที่เป็นเอกเทศทั้งงานบริหารและวิชาการ สามารถส่งนิสิตนักศึกษาเข้าประกวดได้ไม่เกิน ๒ คน เช่นเดียวกัน

พ.ศ. ๒๕๔๖ สนจ. เปลี่ยนนายกเป็น ดร.อดิศัย  โพธารามิก นิสิตเก่าวิศวะฯ ที่บังเอิญอย่างตั้งใจไปเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร หลายรอบหลายกระทรวง ได้คุณพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล วิศวะฯ อีกคนมาเป็นอุปนายก ซึ่งต่อมาก็เป็นรัฐมนตรีเหมือนกัน คุณพงษ์ศักดิ์ สนใจเรื่องสุนทรพจน์มากและเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แว่บมาฟังทุกครั้งที่มีโอกาส ถึงกับจ้างนักศึกษาผู้ชนะการประกวดไปเป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ให้รัฐมนตรีด้วยเป็นกรณีพิเศษ นายกฯ ได้ประสานงาน ผอ.กองสลาก  พต.ต.ต.สุรสิทธิ์  สังขพงศ์ ได้เงินจากสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสนับสนุนการดำเนินงานจัดการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ อีก ๑ ล้านบาท ทำให้โครงการนี้มีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ บจม.ธนาคารกสิกรไทย ยังคงสนับสนุนอยู่ตามสมควร และกฟภ. ก็ยังช่วยเหลืออย่างเหนียวแน่นทั้งเงินทุนและบุคลากร

พ.ศ. ๒๕๔๗ รศ.ดร.ประพิณ   มโนมัยวิบูลย์  เกษียณจากคณะอักษรศาสตร์ ไปวิจัยอยู่แถวเมืองจีนและ ม.แม่ฟ้าหลวง  ผศ.ดร.พรทิพย์  พุกผาสุข รับหน้าที่ประธานดำเนินงานแทน คุณพอใจ  ชัยะเวฬุ ไม่พอใจชีวิตของตนเอง จึงขออำลาจากไปพร้อมสังขาร เมื่อต้นปีการศึกษา ทำให้ทีมงานขาดคนสำคัญผู้ริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมที่ใจกว้าง นึกถึงแต่ส่วนรวมและสถาบันเป็นที่ตั้งไป    โดยยากที่จะหาคนทดแทน แต่เนื่องจากโครงสร้าง วิธีการและหลักการเริ่มลงตัวแล้ว เราก็ดำเนินงานต่อ ในครั้งที่ ๕ นี้กลับรวมศูนย์ภาคเหนือเหลือหนึ่งเดียวที่  ม.แม่ฟ้าหลวง ภาคอีสานเหลือ ๑ เดียวที่ ม.อุบลราชธานี ภาคตะวันออก ที่ม.บูรพา ภาคใต้ ที่ มรภ.สุราษฎร์ธานี และภาคกลางที่ ร.ร.นายเรืออากาศ มีผู้เข้าประกวด ๙๕ คน จาก ๕๕ สถาบัน ชิงชนะเลิศที่ สนจ. ปรากฏว่ามีผู้ฟังเข้ามาอย่างเนืองแน่นเต็มห้องประชุมทีเดียว

ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๔๘  ได้ปรับเปลี่ยนการจัดการใหม่ แยกปริมณฑลออกจากกรุงเทพฯไปร่วมคัดเลือกกับภาคกลาง เพื่อเฉลี่ยจำนวนสถาบันในพื้นที่ให้ใกล้เคียงกัน โดยภาคกลางจัดที่ ม.อีสเทริน์เอเชีย ภาคเหนือที่ มรภ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่  ม.มหาสารคาม ภาคใต้ที่ มรภ. สุราษฎร์ธานีอีกครั้ง ส่วน กทม.ก็คงไปที่ ร.ร.นายเรืออากาศ ซึ่ง ผบ.ทอ.คนใหม่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข  มาร่วมเป็นกำลังใจให้ท่านประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ผศ.ดร.พรทิพย์  พุกผาสุข เนื่องจาก ท่าน ผบ.ทอ. เพิ่มภาระให้ประธานของเราต้องทำหน้าที่ นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศอีกหน้าที่หนึ่ง ปีนี้ประกวดรอบสุดท้ายที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้จัดตั้งแต่แรกเริ่ม ครั้งที่ ๖ มีผู้เข้าประกวดทั้งหมด ๘๕ คน จาก ๕๗ สถาบัน แม้ว่าจำนวนผู้เข้าประกวดจะลดลงบ้าง แต่จำนวนสถาบันที่เข้าร่วมก็มากขึ้นตามลำดับ เกินกว่า ๑ ใน ๓ ของสถาบันที่มีอยู่ทั่วประเทศแล้ว สำหรับปีนี้เข้าใจว่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติชิงถ้วยพระราชทานเริ่มเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง และรู้จักสุนทรพจน์กันมากขึ้นด้วย

ผู้เขียนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนี้ ก็เพราะคุณพอใจ  ชัยะเวฬุ ผู้ริเริ่มโครงการ ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการ นสพ.หลักไท แต่งตั้งให้ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการโดยเฉพาะ คือปรึกษาทุกเรื่อง ยิ่งตอนที่ สนง.หลักไท ไปอยู่ใกล้บ้านผู้เขียนยิ่งพบกันบ่อย  เขาทราบว่าผู้เขียนเป็นกรรมการจัดการประกวดสุนทรพจน์ของมูลนิธิเรยูไก (ประเทศไทย) มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๘ และช่วย คุณภักดี ชุติชูเดช นิสิตเก่ารัฐศาสตร์ อดีตเลขาธิการ สนง.คณะกรรมการประสานงานกิจกรรมเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) จัดสุนทรพจน์ของ สยช. อยู่หลายปี แม้การประกวดของ สยช. จะล้มเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่มูลนิธิเรยูไก (ประเทศไทย) ก็ร่วมกับ สยช. (ปัจจุบันเป็น สท.) ยังจัดอยู่สม่ำเสมอตลอดมา เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจเรื่องสุนทรพจน์ คิดว่าการพูดในที่สาธารณะเพื่อความสนุกสนานซึ่งปรากฏตามสื่อต่างๆนั้น คือสุนทรพจน์ จึงต้องวางกฎกติกาตลอดจนระเบียบวิธีการจัดการตัดสินอย่างรัดกุมกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยได้ก็เป็นปีที่ ๓ ที่เชิญคุณวันเพ็ญ  เซ็นตระกูล จาก อสมท.ผู้มีประสบการณ์จัดการประกวดต่างๆมาสมทบ ช่วยให้งานลงตัวยิ่งขึ้น และพัฒนามาจนปัจจุบัน

เรื่องความเป็นมา เป็นอยู่ และเป็นไปของการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิม พระเกียรติ ที่เล่ามานี้อาจจะเป็นเรื่องอนุสรณ์ของคุณพอใจ  ชัยะเวฬุ ไปบ้างก็ต้องขออภัย เพราะเขาเป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินงานจริงๆ แม้ผู้เขียนจะมีส่วนร่วมและรู้เห็นมาแต่ต้น แต่ไม่ได้มีส่วนผลักดันในที่ประชุมคณะกรรมการ สนจ. เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกวิสามัญกับเขา เมื่อผู้ริเริ่มถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็มีแต่ผู้เขียนที่รู้เห็นเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเป็นกรรมการที่ปรึกษาบ้าง เป็นผู้ประสานงานกับสถาบันอื่นบ้าง เป็นกรรมการวิชาการบ้าง จนผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข ได้มอบหมายให้เป็นรองประธานอยู่ในชุดปัจจุบัน ถ้าไม่เขียนเอาไว้อีกหน่อยพอผู้เขียนตายไปอีกคน จะไม่มีใครรู้เรื่องนี้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเพราะในคณะกรรมการดำเนินงาน มีนิสิตเข้าก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๖ เพียงคนเดียวแล้ว

อนึ่ง คณะกรรมการฯ น่าจะตั้งรางวัล “ พอใจ  ชัยะเวฬุ ” ขึ้นสักรางวัลหนึ่งตามที่คุณพอใจ ประทับใจในความพยายามของนิสิตนักศึกษาที่ฝึกฝนจนได้เข้ารอบชิงชนะเลิศหลายครั้ง    แม้จะไม่เคยได้รับรางวัลใดๆในรอบชิงก็ไม่ยอมท้อถอย อาจให้เป็นรางวัลชื่นชมสัก ๕,๐๐๐ บาท ก็ได้แก่ผู้เข้ารอบสุดท้าย ๓ ครั้ง แต่ไม่ได้ รางวัลใดๆในรอบชิง โดยตั้งชื่อว่ารางวัล “ พอใจ  ชัยะเวฬุ ” ซึ่งบางปีอาจจะมีหลายรางวัล และบางปีอาจไม่มีเลยก็ได้

 

อำพล   สุวรรณธาดา

นิสิตเก่าวิทยาฯ  ๒๔๙๘  เตรียมแพทย์  ๒๔๙๙

อักษรฯ (ภายนอก) ๒๕๐๒  ครุศาสตร์ ๒๕๐๓