ข้อบังคับ

มูลนิธิสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี


หมวดที่ ๑

ชื่อ เครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

 

ข้อ ๑. มูลนิธินี้ชื่อว่า “มูลนิธิสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”

               ๑.๑ ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ “CHULALONGKORN UNIVERSITY ALUMNI ASSOCIATION FOUNDATION UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF H.R.H. PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN”

               ๑.๒ ชื่อย่อภาษาไทย “มสนจ.”

               ๑.๓ ชื่อย่อภาษาอังกฤษ “CUAAF”

       ข้อ ๒. เครื่องหมายมูลนิธินี้ คือ เครื่องหมายสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี(ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้)

ข้อ ๓. สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

หมวดที่ ๒

วัตถุประสงค์

        ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ

               ๔.๑ ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ได้แก่

                       ๔.๑.๑ ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตที่เรียนดีและยากจน (ขัดสนด้านการเงิน)

                       ๔.๑.๒ สนับสนุนอาหารกลางวันสำหรับนิสิตที่ขาดแคลน

                       ๔.๑.๓ สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนานิสิตทั้งด้านวิชาการ และกิจกรรม

                       ๔.๑.๔ สนับสนุนสวัสดิการอื่นที่จำเป็นโดยเฉพาะในกรณีเร่งด่วน

               ๔.๒ เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศล เพื่อการกุศลและองค์การสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์

   ส่งเสริมการศึกษา เผยแพร่วิทยาการ การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

๔.๓ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

หมวดที่ ๓

ทุน  ทรัพย์สิน การได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ ๕. ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ เงินสดจำนวน  ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)

ข้อ ๖. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินในกรณีดังต่อไปนี้

๖.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด

๖.๒ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้

๖.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ

๖.๔ รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ

หมวดที่ ๔

คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ ๗. กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๗.๑ มีอายุไม่ต่ำกว่า  ๒๕ ปีบริบูรณ์

๗.๒ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

๗.๓ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

ข้อ ๘. กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

๘.๑ ถึงคราวออกตามวาระ

๘.๒ ตายหรือลาออก

๘.๓ ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ ๗

๘.๔ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ

๘.๕ เมื่อประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมูลนิธิ จำนวนหนึ่งในสาม ให้ออก

หมวดที่ ๕

การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๙. มูลนิธิดำเนินการโดยกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕ คน แต่ไม่เกิน ๑๒ คน

ข้อ ๑๐. คณะกรรมการมูลนิธิประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับข้อ ๙

ข้อ ๑๑. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้ ให้คณะกรรมการชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิ และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ แต่ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง

ข้อ ๑๒. กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี

เพื่อให้ดำเนินงานมูลนิธิได้เป็นไปโดยติดต่อกันเมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ ๒ ปี (ครึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่ง) ให้มีการจับสลากออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิครั้งแรกและให้ถือว่าเป็นการออกตามวาระ

ข้อ ๑๓. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็น    มติ  ที่ประชุม

ข้อ ๑๔. กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับสลากในวาระแรก อาจได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก

ข้อ ๑๕. ในกรณีที่กรรมการมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิที่ตั้งใหม่

ข้อ ๑๖. ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลง ให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่แต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการมูลนิธิ แทนตำแหน่งที่ว่าง ในกรณีนี้กรรมการมูลนิธิที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

หมวดที่ ๖

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๑๗. คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และภายใต้ข้อบังคับนี้  ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑๗.๑ กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น

๑๗.๒ ควบคุมการเงินและทุนทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ

๑๗.๓ เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีงบดุลรายได้-รายจ่าย ต่อนายทะเบียน

๑๗.๔ ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้

๑๗.๕ ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ

๑๗.๖ แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ

๑๗.๗ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์

๑๗.๘ เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ

๑๗.๙ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ

๑๗.๑๐ แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ

๑๗.๑๑ การดำเนินการตามข้อ ๑๗.๗ , ๑๗.๘ และ ๑๗.๙ ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม

ข้อ ๑๘. ประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

๑๘.๑ เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

๑๘.๒ สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

๑๘.๓ เป็นผู้แทนมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และในการทำนิติกรรมใดๆ ของมูลนิธิ หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ตราสารและสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิและในทางอรรถคดีนั้น  เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการมูลนิธิ ๒ คน ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้

๑๘.๔ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๑๙. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน

ข้อ ๒๐. ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๒๑. เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประจำของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมคณะกรรมการตามคำสั่งของประธานมูลนิธิและทำรายงานประชุม ตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ

ข้อ ๒๒. เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด

ข้อ ๒๓. สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดโดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ข้อ ๒๔. คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นๆ ของมูลนิธิได้

 

หมวดที่ ๗

อนุกรรมการ

ข้อ ๒๕. คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการประจำ หรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการแต่ละคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้

ข้อ ๒๖. อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้

๒๖.๑ อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย

๒๖.๒ อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย

หมวดที่ ๘

การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๒๗. คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี ทุกๆ ปี ภายในเดือนธันวาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๒๘. การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่ ๒ คน ขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้

ข้อ ๒๙. กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ ๒๗ บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๓๐. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ  หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ

ข้อ ๓๑. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ  ประธานกรรมการมูลนิธิหรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติหรือ   ผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจงหรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

 

หมวดที่ ๙

การเงิน

ข้อ ๓๒. ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก  เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป

ข้อ ๓๓. เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน  ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ ๓๔. เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่ธนาคารให้การค้ำประกัน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร

ข้อ ๓๕. การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนกับเลขานุการ หรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้งจึงจะเบิกจ่ายได้

ข้อ ๓๖. ในการใช้จ่ายเงินของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงาน ให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ และเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ

ข้อ ๓๗. ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน  การบัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับ และจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

ข้อ ๓๘. ให้คณะกรรมการของมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี

ข้อ ๓๙. ให้มีผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ  โดยจะดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไรสุดแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด

ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิ และรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องรายงานต่อนายทะเบียน

ผู้สอบบัญชีมีสิทธิตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบถามกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และเอกสารดังกล่าวได้

หมวดที่ ๑๐

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ ๔๐. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมติให้แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

 

หมวดที่ ๑๑

การเลิกมูลนิธิ

ข้อ ๔๑. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข้อ ๔๒. การสิ้นสุดของมูลนิธินั้นนอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้

๔๒.๑ เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน

๔๒.๒ เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก

๔๒.๓ เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

๔๒.๔ เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ

 

หมวดที่ ๑๒

บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๓. การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ  หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๔๔. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้

ข้อ ๔๕. มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการเพื่อหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อการค้าหากำไร หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเท่านั้น

นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์

ประธานมูลนิธิสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

   ผู้จัดทำข้อบังคับ