เรียบเรียงใหม่จากบทความของ อาจารย์สวัสดิ์ จงกล
ผู้เชี่ยวชาญเอกสารประวัติจุฬาฯ ประจำหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อักษรศาสตร์ ๒๔๙๒)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแรกแห่งกรุงสยามจึงมีประวัติความเป็นมายาวนาน กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ที่ตึกยาวใกล้ประตูพิมานไชยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเพียง ๕๒ วัน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ความคิดที่จะให้มีสมาคมนักเรียนเก่าของบุรพสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมานานแล้ว นักเรียนเก่าโรงเรียนมหาดเล็กได้เคยออกวารสารของโรงเรียนเพื่อสื่อสารระหว่างนักเรียนเก่าและนักเรียนปัจจุบัน รวมทั้งครูอาจารย์ที่สั่งสอนนักเรียนเหล่านั้น ความคิดเช่นนี้สืบต่อมาถึงนักเรียนเก่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ จนกระทั่งปลายปีพ.ศ. ๒๔๘๘ นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย๑. ศ.ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล (คณะอักษรศาสตร์)
๒. ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล (คณะวิทยาศาสตร์)
๓. คุณวิชา เศรษฐบุตร (คณะวิศวกรรมศาสตร์)
๔. อาจารย์เปลื้อง ณ นคร (คณะอักษรศาสตร์)
๕. คุณจำรัส สุขุมวัฒน์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์)
๖. ศ.ทองศุข พงศ์ทัต (คณะวิทยาศาสตร์)
๗. พ.อ.ประเสริฐ บัวบุศย์ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)
๘. คุณปรีชา อมาตยกุล (คณะวิทยาศาสตร์)
ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าที่ร้านอาหาร “ไชยณรงค์” ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของนิสิตเก่าผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จ.ม.) การประชุมครั้งนั้นยุติลงด้วยความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องดำเนินการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ได้ จึงได้มีการประชุมหารือกันอีกหลายครั้ง แม้ว่าจะเป็นเวลาค่ำคืนซึ่งต้องพรางแสงไฟเพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ เวลา ๑๖.๐๐ น. คณะผู้ก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน ๑,๓๕๐ คน ได้เข้าประชุมที่หอประชุมมหาวิทยาลัยโดยมี ม.จ.รัชฎาภิเษก โสณกุล อธิการบดีในขณะนั้นทรงเป็นประธาน ม.จ.รัชฎาภิเษกทรงกล่าวว่า มีความพอพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นบรรดานิสิตเก่าทั้งหลายได้รวบรวมกัน มีความสามัคคีกันจนสามารถก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่าขึ้นมาได้ ที่ประชุมใหญ่ในวันนั้นได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่าคณะกรรมการอำนวยการสมาคม และตั้งชื่อสมาคมว่า “สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้ขอจดทะเบียนต่อทางการเป็นที่เรียบร้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการกีฬา การบันเทิง การศึกษา และเผยแพร่วิทยาการส่งเสริมเกียรติแห่งสถานศึกษา และสมาชิกผู้ได้ประกอบกิจอันเป็นประโยชน์มีชื่อเสียง พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งในครั้งนั้นยังดำรงพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นนายกสมาคมพระองค์แรก และมีคณะกรรมการอำนวยการชุดแรกดังรายนามต่อนี้คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๙ | |
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร | นายกสมาคม |
ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล | อุปนายก |
นายเปลื้อง ณ นคร | เลขาธิการ |
นายวิชา เศรษฐบุตร | บรรณารักษ์ |
นายไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ | เหรัญญิก |
ร.อ.ประเสริฐ บัวบุษย์ | ปฏิคม |
ม.ร.ว.ชนาญวัต เทวกุล | นายทะเบียน |
น.พ.จรัลพัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา | แผนกกีฬากลางแจ้ง |
ม.ร.ว.แหลมฉาน หัสดินทร | แผนกกีฬาในร่ม |
นายบุญมาก รุนสำราญ | แผนกการบันเทิง |
นายแพทย์ อิศระ ยุกตะนันท์ | แผนกโฆษณาและเผยแพร่วิชาการ |
ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล | สาราณียกร |
พระยาสุนทรพิพิธ | กรรมการกลาง |
พระชาญวิธีเวช | กรรมการกลาง |
พ.ต.ท. พัฒน์ นิลวัฒนานนท์ | กรรมการกลาง |
นายจำลอง สุวคนธ์ | กรรมการกลาง |
นายตริน บุนนาค | กรรมการกลาง |
นายทองสุข พงศทัต | กรรมการกลาง |
นายศิริ สุภางคเสน | กรรมการกลาง |
สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญของคณะกรรมการสมาคมในแต่ละปีนับแต่จัดตั้งสมาคม มีดังต่อไปนี้
ปีพ.ศ. | การดำเนินงาน |
๒๔๘๙ | ๑๕ กรกฎาคม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้รับสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลให้สมาคมนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม |
๒๔๙๐ |
|
๒๔๙๑ | สมาคมได้เริ่มจัดงาน “ชมพูบอล” ขึ้นเป็นปีแรกโดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้สวนอัมพรเป็นที่จัดงาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้สมทบทุนจุฬาสงเคราะห์ และเพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานนี้ต่อมาภายหลังเรียกชื่อว่างาน “วันจุฬาลงกรณ์” |
๒๔๙๒ |
|
๒๔๙๓ | พระยารามราชภักดีได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับหลายประการ เพราะสมาคมมีภาระทางการเงิน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาคารสมาคม โดยกำหนดให้นิสิตเก่าที่จะเป็นสมาชิกสมาคม ต้องเสียค่าบำรุงตลอดชีพคนละ ๒๐ บาท และได้จัดให้มีนิตยสาร “ชุมนุมจุฬาฯ” ปีละ ๔ เล่ม โดยขอให้สมาชิกเสียค่าบำรุงเพิ่มอีกปีละ ๑๒ บาท การแก้ไขระเบียบนี้ยังไม่ช่วยให้กิจการของสมาคมดีขึ้นเท่าที่ควร |
๒๔๙๔ | พระยารามราชภักดีได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมต่ออีกวาระหนึ่ง มีการแก้ไขข้อบังคับให้สมาชิกที่มาใช้สโมสรเป็นประจำ เสียค่าบำรุงสโมสรเดือนละ ๕ บาท หรือปีละ ๖๐ บาท |
๒๔๙๕ – ๒๔๙๖ |
|
๒๔๙๘ | คณะกรรมการสมาคมซึ่งมี พล.ต.ท.พิชัย กุลละวณิชย์ เป็นนายกสมาคม ได้ดำริที่จะก่อสร้างอาคารของสมาคมขึ้น โดยติดต่อขอเช่าที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ปรากฎว่ามหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วกรุณาอนุมัติให้เช่าที่ดินในเขตบริเวณเพลิงไหม้ ซึ่งอยู่ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ ๗ ติดกับซอย ๒ และซอย ๓ ด้านหลังโรงเก็บรถรางใกล้สะพานเหลืองเดิม เนื้อที่ทั้งหมดเพียง ๔ ไร่ ซึ่งผิดไปจากที่ประสงค์มาก ส่วนการหาเงินทุนนั้น สมาคมได้ขอบริจาคจากนิสิตเก่าทั้งหลายรายละ ๑๐๐ บาท โดยสามารถรวบรวมเงินก่อสร้างอาคารสมาคมได้ประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาท และได้จัดให้มีการประกวดออกแบบอาคารสมาคม มีสถาปนิกของหน่วยงานที่เข้าร่วมได้แก่ กรมรถไฟ โรงงานยาสูบ และกองทัพอากาศ ปรากฎผลว่าแบบของสถาปนิกกองทัพอากาศได้รับเลือกให้เป็นแบบอาคารสมาคม |
๒๔๙๙ | ๓๐ มกราคม มีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารของสมาคมในบริเวณที่มหาวิทยาลัยได้กรุณามอบให้ โดยมี พล.อ.ท. มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎิ์ อธิการบดี เป็นประธาน มีบรรดานิสิตเก่าไปร่วมในพิธีนี้อย่างคับคั่ง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการก่อสร้างอาคารสมาคมใหม่มีค่าใช้จ่ายสูง จำเป็นต้องหาเงินทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที และในระหว่างนั้น ได้มีผู้บุกรุกเข้าไปพักอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ สมาคมได้ติดต่อขอให้มหาวิทยาลัยช่วยจัดการให้ ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ สมาคมเองก็ไม่มีกำลังที่จะจัดการได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายในการขับไล่เป็นจำนวนมากจนเกินเงินทุนสร้างสมาคมที่มีอยู่ทั้งหมดเสียแล้ว ในที่สุดมหาวิทยาลัยได้ขอให้สมาคมพักการก่อสร้างไปก่อนจนกว่าพระราชบัญญัติบูรณะแหล่งเสื่อมโทรมจะได้ประกาศออกใช้เสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ |
๒๕๐๒ | นายวิชา เศรษฐบุตร นายกสมาคม ได้ติดตามเรื่องการสร้างอาคารสมาคมขึ้นอีก โดยพยายามติดต่อมหาวิทยาลัยเพื่อขอสถานที่ใหม่สำหรับก่อสร้าง เพราะสถานที่เดิมมีโอกาสน้อยเต็มทีที่จะให้ได้กลับคืนมา โดยได้เจรจากับมหาวิทยาลัยหลายคราว แต่ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ นอกจากจะต้องรอคอยจนกว่าจะสามารถขับไล่ผู้บุกรุกเหล่านั้นออกไปจากบริเวณดังกล่าว ท้ายที่สุด แม้คณะกรรมการแต่ละชุดจะได้พิจารณาหาทางสร้างอาคารสมาคมให้ได้ แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องที่ดิน การหาเงินทุนเพิ่มเติมจึงเป็นไปอย่างเฉื่อยชา และไม่บังเกิดผลเท่าที่ควร สุดท้าย สถานที่ที่มหาวิทยาลัยได้กรุณาให้ใช้นั้น ได้กลายเป็นสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยไปเสียแล้ว |
๒๕๐๓ |
|
๒๕๐๔ |
|
๒๕๐๖ |
|
๒๕๐๗ | ช่วงปลายปีนี้ สมาคมได้ปิดอาคารสโมสรเดิมและส่งมอบคืนให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อปรับปรุงและดำเนินการก่อสร้างต่อไปตามผังที่ได้วางไว้ แต่คณะกรรมการชุดปัจจุบันก็ยังได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัย จัดที่ทำงานชั่วคราวของนายกสมาคมให้ พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมในการประชุมดำเนินงานและเป็นแหล่งกลางของการติดต่อ |
สมาคมมีข้อชี้แจงถึงนโยบายและข้อปฏิบัติบางประการดังนี้
๑. สมาชิกของสมาคมนี้ได้แก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ข้าราชการชั้นตรีขึ้นไปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเรียนอยู่กี่ปีและสำเร็จหรือไม่ หากได้เคยลงทะเบียนเป็นนิสิตแล้วเป็นใช้ได้ เพราะถือว่าผู้ที่เคยเข้ามาในสถานบันนี้แล้ว ย่อมได้รับคุณลักษณะประการหนึ่งของการเป็นฯคนของมหาวิทยาลัยออกไป หรือเป็นนิสิตปัจจุบันที่สำเร็จชั้นประกาศนียบัตรหรือสูงกว่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไป หรือเป็นนิสิตปัจจุบันที่สำเร็จชั้นประกาศนียบัตรหรือสูงกว่าของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมาแล้ว แม้จะยังเรียนอยู่ในแขนงวิชาที่อื่นอีก มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เป็นที่รังเกียจของวงการสมาคม
คำว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หมายรวมถึงบรรดาสำนักศึกษาต่างๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งหรือสาขาหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เฉพาะในระยะเวลาที่เป็นส่วนหนึ่งหรือสาขาหนึ่งเท่านั้น เช่น คณะแพทยศาสตร์ แผนกนางพยาบาลผดุงครรภ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาฯ แผนกวิชาหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
๒. เนื่องด้วยสมาชิกมีอยู่มากมายและหลายรุ่นเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากในการจัดทำทะเบียน ถึงแม้ว่าจะมีชื่อยู่ ก็หาทราบที่อยู่ไม่ สมาคมได้จัดทำเลขประจำตัวของสมาชิกขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้ทราบได้ทันทีว่า สมาชิกผู้นี้อยู่ในคณะใด และเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เมื่อใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสอบถามและค้นหามาก การที่จะจัดทำได้เช่นนี้อยู่ที่บรรดาสมาชิกจะต้องร่วมมือแจ้งข้อความให้สมาคมทราบ
๓. สมาคมสนใจที่จะให้การติดต่อกับสมาชิกในต่างจังหวัดได้เป็นไปอย่างใกล้ชิดตลอดจนการให้โอกาสและหาวิธีการที่จะให้นิสิตเก่าในจังหวัดได้เลือกกรรมการสมาคมได้ด้วย และในจังหวัดใดที่มีนิสิตเก่าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากก็จะสนับสนุนให้มีการก่อตั้ง “ชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาฯ”ในจังหวัดนั้น มีฐานะเป็นสโมสรสาขาของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
๔. จัดการส่งเสริมและหาทุนเพิ่มเติมให้แก่ “ทุนจุฬาสงเคราะห์”ซึ่งสมาคมได้จัดให้มีขึ้นในระยะแรกที่สมาคมได้ก่อตั้งขึ้น เท่าที่แล้วมาทุนให้ประโยชน์แต่เพียงให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตที่ขาดแคลนทรัพย์เท่านั้น ปีสุดท้ายนี้ได้ให้ทุนแก่นิสิต ๓๐ ทุน ความจริงทุนนี้มีวัตถุประสงค์กว้างขวาง อาจให้ทุนการศึกษาผู้ที่จะมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อทำการค้นคว้า การจัดหาอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มเติม และแม้แต่การสร้างถาวรวัตถุ แต่เนื่องจากทุนนี้มีน้อยจึงยังมิได้ดำเนินการในด้านอื่น ขณะนี้มีทุนเหลืออยู่ ๕๖๖,๘๙๖.๐๓ บาท
๕. ส่งเสริมการกีฬาให้เจริญก้าวหน้า สมาคมได้เคยตั้งทุน “นิสิตเก่าส่งเสริมการกีฬา” ไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ จากการประชุมกลุ่มนักกีฬาในปีนี้ มีความเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขตั้งแต่นักกีฬาของสมาคมยังเป็นนิสิตปัจจุบันอยู่ในปีแรก ๆ เห็นความที่จะได้ปรึกษาขอความเห็นและความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่อไป
๖. จัดการหาทุนสร้างอาคารสมาคมให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ สมาคมก่อตั้งมาได้ครบ ๒๐ ปีแล้ว สมควรที่จะมีสถานีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและสามารถดำเนินการให้เป็นปึกแผ่น ให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและต่อมหาวิทยาลัย รวมทั้งต่อนิสิตรุ่นน้องๆ นโยบายของสมาคมมิได้มุ่งหวังในเรื่องการบันเทิงแต่ประการเดียว หากแต่มุ่งหวังจะกระทำการให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองด้วยเป็นประการสำคัญ ที่ทำการของสมาคมนิสิตเก่าจะเป็นสถานที่ของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่เป็นแขวงหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ด้วยเช่นสมาคมวิทยาศาสตร์สมาคมวิศวกรรมสถาน สมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทย หรือกลุ่มคณะอื่นๆ ที่จะมาใช้ประชุมในสถานที่นี้ด้วย เรื่องใดที่เป็นเรื่องของสังคม การบันเทิง และกิจการโดยทั่วไป สมาคมนิสิตเก่าก็จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกของสมาชิกของสมาคมในกลุ่มวิชาการก็คือสมาชิกของสมาคมนิสิตเก่านั้นเอง
เจตนาของคณะกรรมการ ชุดนี้ตั้งใจที่จะริเริ่ม การก่อสร้างอาคาร สมาคมให้ดำเนินต่อไปจนบรรลุผลสำเร็จ ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสร็จในงาน “วันจุฬาลงกรณ์” พ.ศ. ๒๕๐๙ นี้ว่า “เนื่องจากสมาคมได้ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีแล้ว ยังไม่มีอาคารสำนักงานสถานที่พบกันระหว่างสมาชิกเป็นหลักแห่งถาวร ได้เคยมีการริเริ่มจะสร้างกันมาครั้งหนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีมาแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ประสบแต่อุปสรรนานาประการ บัดนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีอายุครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ คณะกรรมการชุดปัจจุบันจึงเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูความคิดที่จะสร้างอาคารขึ้นอีก เพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เดิม สำหรับสถานที่มหาวิทยาลัยได้จัดแบ่งเขตให้แล้ว สำหรับทุนในการก่อสร้างจะขอแล่งเงินรายได้ส่วนหนึ่งจัดการดำเนินงานนี้ และหาทุนเพิ่มเติมไปรวมกับเงินทุนที่บรรดาสมาชิกได้บริจาคไว้แล้วจำนวน ๒๓๑,๐๐๐ บาท ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้ามีความหวังว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จเป็นผลแน่นอนในคราวนี้..” ขณะนี้สมาคมมีเงินทุนในการสร้างสมาคมเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐๐,๐๐๐ บาท และหวังว่าบรรดานิสิตเก่าทั้งหลาย คงจะพร้อมใจกันให้ความตั้งใจนี้สำเร็จลงได้ด้วยดี
พระนามและนามนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ |
|
พ.ศ. ๒๔๘๙ | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร |
พ.ศ. ๒๔๙๐ | พระยาสุนทรพิพิธ |
พ.ศ. ๒๔๙๑ | พระยาไชยยศสมบัติ |
พ.ศ. ๒๔๙๒ | นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ |
พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๔ | พระยารามราชภักดี |
พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๗ | พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎิ์ |
พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๔๙๙ | นายพลตำรวจโท พิชัย กุลละวณิชย์ |
พ.ศ. ๒๕๐๐ | นายกาญจนะ เฮงสุวณิช |
พ.ศ. ๒๕๐๑ | นายพันตำรวจเอก จรัส วงศาโรจน์ |
พ.ศ. ๒๕๐๒ | นายวิชา เศรษฐบุตร |
พ.ศ. ๒๕๐๓ | นายชู ประภาสถิตย์ |
พ.ศ. ๒๕๐๔ | น.ต.กำธน สินธวานนท์ |
พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๗ | นายพ่วง สุวรรณรัฐ |
พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ | น.ต.กำธน สินธวานนท์ |
พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๑ | นายเกยูร ลิ่มทอง |
พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๓ | นายวิชา เศรษฐบุตร |
พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๗ | ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ |
พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ | นายเฉลิม ประจวบเหมาะ |
พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๑ | ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ |
พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๕ | นายอำนวย อุดมศิลป์ |
พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙ | ดร.วีระ ปิตรชาติ |
พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๓ | นายพิศาล มูลศาสตรสาทร |
พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๗ | พลอากาศเอก นายแพทย์ประกอบ บุรพรัตน์ |
พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ | นายอารีย์ วงศ์อารยะ |
พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ | ดร.พิจิตต รัตตกุล |
พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕ | นายวิบูลย์ คูหิรัญ |
พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๙ | ดร.อดิศัย โพธารามิก |
พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๑ | นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ |
พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๓ | นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ |
พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๗ | นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ |
พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๕๙ | นายเทวินทร์ วงศ์วานิช |
พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๑ | นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี |
พ.ศ. ๒๕๖๒- ปัจจุบัน | นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย |