สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสำคัญอย่างสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาฯ ระดมนิสิตเก่าจิตอาสากว่า 100 ชีวิต ลงพื้นที่มอบเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องอุปโภค รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท ตลอดจนช่วยฟื้นฟูโรงเรียน 10 แห่งที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ 2 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ พื้นที่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ
ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน อุปนายก สนจ. กล่าวว่า “สนจ. ในฐานะองค์กรที่มีภาคีเครือข่ายนิสิตเก่าจุฬาฯ อยู่ทุกภาคทั่วประเทศ ทำให้เราทราบถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยในอีสานโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราจึงทำโครงการ CU Voice for ISAAN ส่งต่อธารน้ำใจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแคมเปญออนไลน์รูปแบบใหม่ ระดมทุนจากเพื่อนสมาชิก สนจ. และคนไทยที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคมากกว่า 800,000 บาท นอกจากนี้คณะกรรมการอำนวยการ สนจ. ยังได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเหตุการณ์ดังกล่าวสมทบเพิ่มอีก โดยเราได้นำเงินจำนวนนี้ไปจัดซื้อเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและคุณครูทั้ง 10 โรงเรียน หลังจากที่เรามาสำรวจพื้นที่แล้วครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อช่วยฟื้นฟูให้สามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนได้เร็วที่สุดได้อีกครั้งหนึ่ง”
ขณะที่ อ.เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) ในฐานะอดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “การจัดการของเราไม่ได้มีเพียงการซื้อสิ่งของมาช่วยเหลือเท่านั้น แต่เราได้สำรวจความเสียหายและความต้องการก่อนหน้านี้แล้ว เรามีทีมที่มาพบตัวแทนโรงเรียน เพื่อนำเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธามาจัดซื้อสิ่งของให้ตรงความต้องการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งเรามองถึงเรื่องการใช้สอยให้เหมาะสมเป็นสำคัญ จึงต้องพิจารณาครุภัณฑ์และเครื่องอุปโภคอย่างโต๊ะและเก้าอี้ในชั้นเรียนที่ออกแบบมาให้ทนน้ำ ไม่จมน้ำเกิดความเสียหาย เพื่อลดความสูญเสียหากมีเหตุอุทกภัยขึ้นอีกในอนาคต”
ด้าน นางรัตนาวลี โลหารชุน นายกสมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาฯ เปิดเผยว่า “โครงการนี้นอกจากการจัดหาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแล้ว เรายังได้พานิสิตเก่าหอพักจุฬาฯ มาร่วมกันซ่อมแซมและฟื้นฟูพื้นที่ภายในโรงเรียน อาทิ ห้องเรียน ห้องสมุด กำแพง พื้นเวที นอกจากนี้เรายังเล็งเห็นถึงการฟื้นฟูวิถีท้องถิ่นของชุมชนให้กลับมา จึงได้มอบพันธุ์ไก่ พันธุ์ปลา และเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปเพาะปลูกนำมาประกอบอาหารเลี้ยงดูคณาจารย์และนักเรียนต่อไป ทั้งนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงพื้นที่กับเราเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย”
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ และตัวแทนพี่น้องใน จ.อุบลราชธานี ผมขอขอบคุณคณะจิตอาสา จุฬาฯสามัคคีทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจลงพื้นที่มาช่วยเหลือเราในครั้งนี้ ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่บริจาคทุนทรัพย์และสิ่งของผ่านมาทาง สนจ. สมาคมนิสิตเก่าคณะและหอพักนิสิตจุฬาฯ รวมถึง กฟผ. และทุกท่านที่ลงพื้นที่มาช่วยคนอุบล นี่เป็นธารน้ำอันยิ่งใหญ่ที่เราจะจารึกไว้ในหัวใจ”
นับเป็นอีกหนึ่งพลังแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมที่นิสิตเก่าจุฬาฯ ได้แสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง สมกับ “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”